ท่านสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนฯ ได้ที่  >> FACEBOOK <<

about

ประวัติมูลนิธิ ฯ

ประวัติความเป็นมา

        มูลนิธิฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่  14  กรกฎาคม  2505  โดยผู้มีจิตกุศลกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นการณ์ไกลว่า ประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีองค์กรการกุศลใด จัดการบริการให้แก่เด็กปัญญาอ่อนเลย จึงได้เริ่มก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษให้ผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ จัดการแสดงไปแสดงในงาน “คชสิงห์รีวิว”  ซึ่งมีบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย เป็นผู้อุปถัมภ์รายการ โดยมอบเงินเพื่อใช้เป็นทุนในการก่อตั้งมูลนิธิฯ ใช้ชื่อในระยะแรกว่า “มูลนิธิช่วยเด็กปัญญาอ่อน” มีสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลปัญญาอ่อน

คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ ประกอบด้วย

        1   หม่อมงามจิตต์         บุรฉัตร           (ท่านผู้หญิงหม่อมงามจิตต์    บุรฉัตร)

        2.  นายบุญมา              วงศ์สวรรค์

        3.  นายป๋วย                 อึ้งภากรณ์

        4.  นายแพทย์ฝน          แสงสิงแก้ว

        5.  นายแพทย์รสชง       ทัศนาญชลี

        6.  นางโสภร                วงศ์สวรรค์      (คุณหญิงโสภร    วงศ์สวรรค์)

        7.  นางสถาพร              สุวัณณุสส์

        เมื่อจัดทำตราสารและจัดตั้งกรรมการเรียบร้อยแล้ว ประธานมูลนิธิฯ หม่อมงามจิตต์   บุรฉัตร ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้ทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ใน พระบรมราชินูปถัมภ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับไว้เมื่อวันที่  30  มีนาคม  2505  จึงได้ทำการขอจดทะเบียนมูลนิธิฯ และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่  14  กรกฎาคม  2505  และเมื่อวันที่  26  กุมภาพันธ์  2506  คณะกรรมการได้ขอพระราชทานตรามูลนิธิฯ เป็นภาพมกุฎกษัตริย์เหนืออักษรชื่อของมูลนิธิช่วยเด็กปัญญาอ่อนและภาพศีรษะเด็กซึ่งอยู่ในความมืดครึ่งหนึ่ง และความสว่างครึ่งหนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่  6  มีนาคม  2506

ที่ปรึกษาในระยะเริ่มแรก

        1  ด้านกฎหมาย           -  นายป๋วย    อึ้งภากรณ์

                                             นายบุญมา       วงศ์สวรรค์

        2. ด้านการแพทย์         -  นายแพทย์ฝน    แสงสิงแก้ว

                                             นายแพทย์สงัด     เปล่งวาณิช

 

วิสัยทัศน์

            “ คนพิการทางสติปัญญาทุกระดับได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเต็มความศักยภาพ”

 

พันธกิจ

1        ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางสติปัญญา ให้ช่วยเหลือตนเองได้           

2        สนับสนุนการเรียนรู้  ศึกษา  วิจัย ทางด้านคนพิการทางสติปัญญา

3        สร้างเครือข่าย  การให้บริการคนพิการทางสติปัญญา

การดำเนินงาน

ระยะเริ่มแรก   ( 2505  -  2525  )

            ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้ง มูลนิธิฯ ได้อาศัยสถานที่ ของโรงพยาบาลปัญญาอ่อน (ปัจจุบันสถาบันราชานุกูล) จึงได้มุ่งเน้นช่วยงานของโรงพยาบาลเป็นหลัก เช่น ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อนแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “โรงเรียน     ราชานุกูล” และสร้างอาคารฝึกอบรมเด็กปัญญาอ่อนผู้เยาว์ ซึ่งจะช่วยให้เด็กใช้ชีวิตร่วมกับเด็กปกติได้เร็วขึ้นเรียกว่า  อาคารดรุณพัฒนา  ต่อมาเพื่อส่งเสริมให้เด็กปัญญาอ่อนได้รู้จักวิธีการใช้เงิน รู้ค่าของเงินในการใช้ชีวิตประจำวัน จึงได้จัดสร้างอาคารร้านค้าขึ้นภายในโรงพยาบาลราชานุกูล

            ต่อมา  มูลนิธิฯ พิจารณาเห็นว่าการเป็นปัญญาอ่อน ด้วยสาเหตุบางอย่าง สามารถรักษาบำบัดได้ถ้ารู้สาเหตุแต่เริ่มแรกจึงได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยปัญญาอ่อนและตึกพลานามัย เพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยรักษาปัญญาอ่อนที่เรียกว่าประเภท P.K.U. เป็นอันดับแรก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็เพื่อหาวิธีการป้องกันการเป็นปัญญาอ่อน ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยเด็ก และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

            หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้แก่โรงพยาบาลราชานุกูลมากมาย ต่อมาระหว่างปี 2516 – 2525  มูลนิธิฯ ได้ขยายงานออกไป ร่วมกับต่างประเทศ โดยสมัครเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ปัญญาอ่อนแห่งส่วนภูมิภาคเอเซีย(AFMR) (ปัจจุบันเป็นสมาพันธ์บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญาแห่งส่วนภูมิภาคเอเซีย  Asian Federation on Intellectual Disabilities (AFID)  และมูลนิธิฯ ได้แยกตัวออกมาจากโรงพยาบาล    ราชานุกูล มาตั้งอยู่ที่แห่งใหม่ ในปัจจุบันติดกับสถาบันรานุกูล  มูลนิธิฯ เห็นว่า การศึกษาพิเศษสำหรับ เด็กปัญญาอ่อน มีแห่งเดียว ไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กปัญญาอ่อนที่มารับบริการ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนการศึกษาพิเศษแห่งที่  2  ขึ้น คือ โรงเรียนปัญญาวุฒิกรและเป็นโรงเรียนศึกษาพิเศษเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนเด็กปัญญาอ่อน ดำเนินการโดยมูลนิธิฯ เองและขยายการดำเนินงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งด้านการศึกษา ด้านวิชาการและด้านสังคมสงเคราะห์ โดยจัดทำโครงการออกเยี่ยมครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อนถึงที่อยู่อาศัยและงานด้านอื่นๆ

ระยะที่  2  ( 2526 – 2556 )   

            หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ขยายงาน ออกมาก่อตั้งสำนักงานภายนอกโรงพยาบาลแล้ว ก็ได้มุ่งขยายงานการบริการคนปัญญาอ่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกวัยและทั่วทุกภาค  ดังนี้

ปี  2524

            จัดตั้งศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคเหนือที่  จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบริการคนปัญญาอ่อนในภูมิภาคเหนือ

ปี2526

            จัดตั้งศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่  จังหวัดอุดรธานี เพื่อบริการคนปัญญาอ่อนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปี 2528

            จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปัญญาอ่อนวัยก่อนเรียนชุมชนคลองเตย เพื่อบริการเด็กปัญญาอ่อนในชุมชนตอนใต้ของกรุงเทพฯ

ปี 2529

            จัดตั้งศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ที่ จังหวัดสงขลา เพื่อบริการคนปัญญาอ่อนในภูมิภาคใต้

ปี 2530 - 2532

            จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพปัญญาคารเพื่อฝึกอาชีพให้แก่คนปัญญาอ่อนวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่มีอาชีพช่วยเหลือตนเองได้

ปี 2530

            ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญาอย่างถาวร หลังจากที่ฝ่ายวิชาการของมูลนิธิฯ ได้ทำเป็นโครงการฝึกเด็กปัญญาอ่อนระดับหนักและระดับปานกลางมาตั้งแต่ปี 2525  ทั้งยังเป็นศูนย์ศึกษาดูงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับบุคคลปัญญาอ่อน

ปี 2532

            ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปัญญาอ่อนวัยก่อนเรียน ชุมชนบางเขนต่อมาย้ายมาอยู่ที่ชุมชนทุ่งสองห้องจนถึงปัจจุบันเพื่อบริการเด็กปัญญาอ่อนในชุมชนตอนเหนือของกรุงเทพฯ

            เมื่อมูลนิธิ ได้จัดตั้งศูนย์บริการคนปัญญาอ่อนครบทุกระดับวัยและครอบคลุมทั่วทุกภาครวม 8 แห่ง และศูนย์บริการทุกแห่งได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านบริหารและวิชาการ

งานด้านวิชาการ

            มูลนิธิฯ ได้จัดประชุม สัมมนา วิจัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาบุคลากร ทั้งทางการแพทย์และการศึกษาตลอดทั้งประสานงานส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมนานาชาติ เช่น เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาสมาพันธ์ ปัญญาอ่อนแห่งส่วนภูมิภาคเอเซียในประเทศไทย เพิ่มความรู้แก่บุคลากร เมื่อปี 2532 มีผู้เข้าร่วมประชุม  29  ประเทศกว่า 700 คน และจัดสัมมนาระดับชาติร่วมกับกรมการแพทย์เรื่อง การจัดบริการเพื่อบุคคลปัญญาอ่อนในด้านการแพทย์  การศึกษาและการสังคมสงเคราะห์ตลอดทั้ง การฟื้นฟูสมรรถภาพ จากการสัมมนาดังกล่าวเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเป็นแม่บท “งานป้องกันและให้บริการภาวะปัญญาอ่อนในประเทศไทย  ให้ทุนการศึกษาค้นคว้าวิจัย แก่รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง พรสวรรค์   วสันต์  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  หน่วยเวชพันธุศาสตร์  คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เรื่อง  การตรวจเลือดในหญิงมีครรภ์ เพื่อค้นหาปัญญาอ่อนกลุ่มดาวน์ซินโดรม และการตรวจแผลในทารกแรกเกิด เพื่อค้นหาความผิดปกติของยีน เป็นโรค PKU และความบกพร่องของโครโมโซนที่ช่วยกระตุ้นต่อม ไทรอยด์ เป็นการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ทั้งสองเรื่องเป็นการป้องกันโรคทางด้านพันธุศาสตร์

งานด้านสังคมสงเคราะห์

            มูลนิธิฯ ได้ขยายการบริการด้านสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนกลาง เน้นชุมชนแออัด  ในส่วนภูมิภาค เน้นท้องถิ่นทุรกันดาล ที่ประชาชนขาดโอกาสในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความ สะดวก ในการเข้ารับบริการตลอดทั้งการรับรู้ข่าวสาร ต่างๆ  ทั้งนี้ ก็โดยอาศัยการประสานงานกับภาครัฐและองค์กรชุมชนในพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้านการป้องกัน  การฟื้นฟูสมรรถภาพ สิทธิและการเข้าถึงการบริการเป็นต้น ทำให้ผู้พิการทางสติปัญญา ได้รับการบริการเพิ่มมากขึ้น ตลอดทั้งประชาสังคมได้ เข้าใจปัญหาของผู้พิการทางสติปัญญา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ

ระยะตั้งแต่ 2557  เป็นต้นไป  (สู่อนาคต)

            หลังจากที่มูลนิธิฯ จัดตั้งศูนย์บริการบุคคลปัญญาอ่อนครบทุกวัยและขยายงานลงสู่ชุมชนทั่วทุกภาค 60 จังหวัด โดยศึกษาวิจัย ควบคู่กันไปการบริการ สิ่งที่พบก็คือ ปัญหาของคนปัญญาอ่อนหรือผู้พิการทางสติปัญญาส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนหรือในส่วนภูมิภาค 69.4ไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และคน ปัญญาอ่อนวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ 93.6% ไม่มีอาชีพช่วยเหลือตนเอง สาเหตุจากผู้ปกครองไม่ให้ความสนใจหรือขาดการกระตุ้นจากหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือความพิการที่เป็นปัญหา ซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาสกว่าคนพิการด้านอื่นๆ ที่สามารถเรียกร้องสิทธิช่วยเหลือตนเองได้จากปัญหาที่เราพบเหล่านี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ

จึงได้วางอนาคตในการช่วยเหลือผู้พิการกลุ่มนี้ ตามศักยภาพขององค์กรที่พอจะทำได้  ดังนี้

1        จัดอบรมพ่อ แม่ ผู้ปกครอง อาสาสมัครผู้นำชุมชนให้ตระหนักถึงปัญหาและกระตุ้นพัฒนาผู้

พิการกลุ่มนี้ ตั้งแต่เริ่มแรกที่พบ ในแต่ละปี สามารถจัดได้ 8 – 10  จังหวัด และพยายามขยายเครือข่ายให้ได้มากที่สุด

2        สำหรับคนปัญญาอ่อนวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ก็ได้จัดฝึกอาชีพให้ พ่อแม่  ผู้ปกครองและตัวผู้พิการ

ส่วนใหญ่ เป็นอาชีพขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้และมีตลาดรองรับในท้องถิ่น ซึ่งสามารถจัดปีละ 3 – 5  จังหวัด

3        จัดวางแผนการฝึกอาชีพให้คนกลุ่มนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

ระดับที่  1  ฝึกเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วไปที่นายจ้างสามารถรับเข้าทำงานได้

ระดับที่  2  ฝึกเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพอิสระช่วยเหลือตนเองโดยอาศัยครอบครัว

เป็นพื้นฐานหรือผู้ช่วย

                      ระดับที่  3   จัดทำเป็นโครงการโรงงานในอารักษ์เพื่อฝึกประกอบชิ้นส่วนของวัสดุอุปกรณ์บางอย่าง ที่คนกลุ่มนี้สามารถทำได้หรือทำงานบางอย่างร่วมกับคนปกติ

ความคาดหวัง

            ถ้าหากสังคมได้มองถึงปัญหาของผู้พิการที่จะต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทุกคนต้องช่วยกันเพราะเขาคือมนุษย์คนหนึ่ง

                                  “ผู้พิการทางสติปัญญาพัฒนาได้  ถ้าใส่ใจและให้โอกาส