งานวิจัย
รายงานผลการสำรวจของฝ่ายวิชาการ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนฯ
จากการที่มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยฯ ได้อนุมัติงบประมาณและโครงการให้ฝ่ายวิชาการ โดยประธานฝ่าย (แพทย์หญิงวัณรุณี คมกฤส) และคณะผู้วิจัย ๙ ท่านประกอบด้วยนางวัฒนา ศิริรัตน์ นางศรีสมร กสิวัฒน์ นางดารณี ธนะภูมิ นางไพพรรณ สุดแสดง นางสิริมา สิทธิวรรณ แพทย์หญิงอรพรรณ เมฆสุภะ นางสาวอุ่นเรือน อำไพพัสตร์ นางวัลย์ลิกา สังข์ทอง และนางกาญจนา ภัทราพรนันท์ ดำเนินการจัดทำงานวิจัยเรื่อง "การสำรวจการเตรียมความพร้อมในการพึ่งพาตนเองของบุคคลปัญญาอ่อน" ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพ ๕๐ ชันษาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ นั้น บัดนี้ งานวิจัยได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน มิถุนายน - ธันวาคม ๒๕๔๘ รวม ๗ เดือน มีผลงานที่ควรรายงานให้ทราบพอเป็นสังเขป ดังนี้
มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดบริการฝึกงานและฝึกอาชีพด้าน ต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคคลปัญญาอ่อนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มาเป็นเวลานานกว่า ๒๕ ปีแล้วนั้น ปัจจุบันยังพบว่ามีบุคคลปัญญาอ่อนเพียงจำนวนน้อยที่ประสบผลสำเร็จจากการจ้างงานและพึ่งพาตนเองได้ในสังคมไทย ส่วนใหญ่เขายังต้องอาศัยอยู่กับครอบครัว และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานนัก มูลนิธิฯ จึงเล็งเห็นว่า การศึกษาสำรวจความต้องการและความพึงพอใจของผู้ปกครองบุคคลปัญญาอ่อน ครูฝึกอาชีพ ตลอดจนทัศนคติของนายจ้างที่มีต่อบุคคลปัญญาอ่อน จะช่วยให้มูลนิธิฯ มีข้อมูลเบื้องต้นในการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคคลปัญญาอ่อน และเพื่อเตรียมการฝึกอบรมบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ครูฝึกอาชีพ (Job coach) ให้บุคคลปัญญาอ่อนมีความพร้อมออกสู่ตลาดแรงงานต่อไปในอนาคต
งานวิจัยฉบับนี้ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองของคนพิการ โดยพิจารณาทั้งในแง่ปรัชญาด้านคุณภาพชีวิต (Quality of life) และวิถีชิวิตอิสระ หรือการดำรงชีวิตอิสระ (Independent living: IL) สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ได้ให้ความหมายที่ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฎิบัติได้ว่า การพึ่งพาตนเอง คือความสามารถในการดำเนินชีวิตในกิจวัตรประจำวันและการทำงานที่บ้าน ตลอดจนสามารถช่วยตนเองในการเดินทางไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการได้ ส่วนคำว่า การเตรียมความพร้อม มุ่งเน้นการฝึกฝนให้บุคคลปัญญาอ่อนมีทักษะการทำงานขั้นพื้นฐาน มีทักษะทางสังคม และลักษณะนิสัยที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น เป็นคนตรงต่อเวลา สามารถทักทายและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ งานวิจัยยังนำเสนอแนวทางการจัดหลักสูตรด้านอาชีพสำหรับทั้งของประเทศไทย และที่ในต่างประเทศโดยละเอียดพอสมควร
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์หลักของการวิจัยครั้งนี้ คือ
(๑) เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความคาดหวังและความพึงพอในของผู้ปกครอง และครูฝึกทางวิชาอาชีพของบุคคลปัญญาอ่อน เกี่ยวกับความพร้อมในการพึ่งพาตนเองของบุคคลปัญญาอ่อน และ
(๒) เพื่อสำรวจทัศนคติและความต้องการของนายจ้างสถานประกอบการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในการจ้างงานบุคคลปัญญาอ่อน
วิธีการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้วิธีการสอบถาม/สัมภาษณ์ผู้ปกครองจำนวน ๑๐๐ คน ที่มีลูกเป็นบุคคลปัญญาอ่อนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไปและกำลังฝึกอาชีพอยู่ในศูนย์บริการของมูลนิธิฯ ๔ แห่ง (โรงเรียนปัญญาวุฒิกร ศูนย์ฝึกอาชีพปัญญาคาร ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชนคลองเตย ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชมทุ่งสองห้อง) และที่สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ครูฝึกอาชีพ ๒๐ คนของบุคคลปัญญาอ่อนที่ฝึกอาชีพอยู่ในศูนย์บริการ ๔ แห่งของมูลนิธิฯ (โรงเรียนปัญญาวุฒิกร ศูนย์ฝึกอาชีพปัญญาคาร ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชนคลองเตย ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชมทุ่งสองห้อง) และที่สถาบันราชานุกูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสอบถามนายจ้างของสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจำนวน ๕๐ คนรวมทั้งสิ้น ๑๗๐ คน
ผลการวิจัย
ผลการสำรวจพบว่าผู้ปกครองมีความพึงพอใจเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองของบุคคลปัญญาอ่อนโดยรวมอยู่ในระดับพอใจพอสมควร เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าพอใจพอสมควรทุกด้าน โดยมีค่าเฉลี่ยเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้ –ทักษะการช่วยเหลือตนเอง ทักษะด้านอาชีพ ทักษะทางสังคม และลักษณะนิสัยที่จำเป็นต่อการทำงาน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าฝึกในศูนย์ฝึกอาชีพปัญญาคาร มีความพึงพอใจเกี่ยวกับทักษะด้านอาชีพของบุคคลปัญญาอ่อน สูงกว่าผู้ปกครองจากโรงเรียนปัญญาวุฒิกร
ครูฝึกมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับพอใจพอสมควร เมื่อพิจารณาหลายด้านพบว่าพึงพอใจมากต่อทักษะการช่วยเหลือตนเองและพึงพอใจพอสมควร เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้-ทักษะทางสังคม ลักษณะนิสัยที่จำเป็นต่อการทำงานและทักษะด้านอาชีพจากการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างความพึงพอใจของครูฝึกในหน่วยงานให้บริการของมูลนิธิฯ พบว่า ครูฝึกในโรงเรียนปัญญาวุฒิกรและศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชนทุ่งสองห้อง มีความพึงพอใจเกี่ยวกับทักษะทางการพึ่งพาตนเองของบุคคลปัญญาอ่อนโดยรวม สูงกว่าครูฝึกในศูนย์ฝึกอาชีพปัญญาคารและศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชนคลองเตย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาลึกลงไปในด้านทักษะทางอาชีพซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันข้ามกับผู้ปกครอง
จากการสำรวจทัศนคติและความต้องการของนายจ้างในการจ้างงานบุคคลปัญญาอ่อนด้วยแบบสำรวจความติดเห็นเกี่ยวกับการยอมรับบุคคลปัญญาอ่อนเข้าทำงานในสถานประกอบการ ๑๗ ข้อโดยรวม พบว่านายจ้างมีทัศนดติที่ดีในระดับเห็นด้วย ปานกลาง เมื่อพิจารณาหลายด้านพบว่า ส่วนใหญ่นายจ้างเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า การจ้างงานบุคคลปัญญาอ่อนเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการเปิดโอกาสให้ผู้พิการ เป็นภาพพจน์และตัวอย่างที่ดีของสถานประกอบการ และเพราะต้องการช่วยให้บุคคลปัญญาอ่อนมีรายได้เลี้ยงดูตนเอง ไม่ใช่รับเข้าทำงานเพราะความสงสารหรือเป็นการกุศล อย่างไรก็ตาม นายจ้างควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะความสามารถของบุคคลปัญญาอ่อนและในการทำงานระยะแรกควรมีครูฝึก (job coach) เป็นพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลบุคคลปัญญาอ่อนเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่นายจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่าบุคคลปัญญาอ่อน จะทำงานได้ใกล้เคียงกับบุคคลปกติ
ข้อเสนอแนะ
คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะบางประการสำหรับผู้ปกครองบุคคลปัญญาอ่อน นายจ้าง และมูลนิธิฯ เช่น ผู้ปกครอง/ครูฝึกควรตั้งความคาดหวังและความต้องการต่อบุคคลปัญญาอ่อนให้สูงขึ้นเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยมุ่งเน้นเป้าหมายอนาคตให้บุคคลปัญญาอ่อนสามารถพึ่งพาตนเองมากขึ้น นอกจากจะมีการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องมีอาชีพพอเลี้ยงดูตนเองได้ ยินยอมให้มีผู้ช่วยเหลือส่วนบุคคลได้ในบางโอกาส และมีส่วนร่วมในการเลือกฝึกโปรแกรมทางอาชีพที่เขาชอบ สนใจ และมีความถนัด
สำหรับมูลนิธิฯ ควรมีการร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และภารกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้แก่หน่วยงานบริการของมูลนิธิฯ ร่วมมือกับนายจ้างสถานประกอบการที่สนับสนุนการฝึกอาชีพให้แก่บุคคลปัญญาอ่อนมากขึ้น เพื่อให้การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะและความสามารถของบุคคลปัญญาอ่อน งานอาชีพที่มูลนิธิฯ ควรสนับสนุนให้หน่วยงานบริการจัดฝึกแก่บุคคลปัญญาอ่อน อาจเป็นอาชีพอิสระเช่น เกษตรกรรม งานสวน งานบ้าน งานซักรีด ฯลฯ และอาชีพรับจ้าง เช่น บรรจุหีบห่อ วางกอง แยกเป็นหมวดหมู่ รับโทรศัพท์ แจ้งข้อความสำนักงาน รับ-ส่งแฟกซ์ งานถ่ายเอกสาร พับเรียงเย็บเล่ม งานเดินหนังสือ เข้าแฟ้มในสำนักงาน บริการเสิร์ฟอาหาร ล้างจาน ถูพื้น ติดต่องานภายนอกสำนักงานตามคำสั่งของนายจ้าง งานล้างทำความสะอาดรถยนต์ งานตัดขี้ด้ายในโรงงานผลิตเสื้อผ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ งานวิจัยฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อนายจ้างสถานประกอบการ และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วย
โดย ศรีสมร กสิวัฒน์